วันอังคารที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2557

ประวัติวัดพระหฤทัยแห่งพระเยซูเจ้า ขลุง จ.จันทบุรี (1)



    ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว : สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 9 มีคริสตชนจากจันทบูร 3 - 4 ครอบครัว ย้ายมาวันยาว (คำว่า "วันยาว " เพี้ยนมาจากคำว่า"ด้านยาว " คือแม่น้ำด้านยาวที่ไม่คดเคี้ยว) ในปี ค.ศ.1870 (พ.ศ.2413) ซึ่งขณะนั้นเป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ ครอบครัวคริสตัง (คาทอลิก) ที่อพยพมาจากจันทบุรีรายแรกคือ นายเหงียน กับภรรยาชื่อ นางเกี๋ยง ใช้นามสกุลว่า "ห่อเหวียน" มีลูกชาย 2 คน หญิง 3 คน ครอบครัวที่สองคือ นายเต๊า เป็นคนจีน ภรรยาชื่อ นางผุด เป็นญวน ครอบครัวนี้มีสมาชิกน้อยกว่า

     เมื่อคริสตังอพยพกันมาอยู่เป็นหมู่เดียวกันมากขึ้น ในปี ค.ศ. 1873 (พ.ศ.2416) คุณพ่อกังตริ๊ก (P.Quentric) เจ้าวัดจันทบุรี ได้ตั้งกลุ่มคริสตังขึ้นที่     วัดวันยาว (วัดขลุง) มีการสอนคำสอนให้เด็ก ถวายมิสซา ส่งศีล ฯลฯ

     ปี ค.ศ.1875 (พ.ศ.2418) มีคริสตังอยู่ 146 คน คุณพ่อกังตริ๊ก ได้สร้างวัดน้อยเล็กๆ ขึ้นหลังหนึ่ง โดยใช้ฝาไม้ หลังคามุงจาก (สร้างอยู่ชายคลองใกล้กับบ้านนางแคล้ว สุขสำราญ ซึ่งอยู่ข้างมุขวัดทิศใต้) คนที่ไปวัดหลังนี้จะต้องเดินบนสะพานไม้แคบๆ และใช้สำหรับที่พักของมิสชันนารี เมื่อมาเยี่ยมเยียนด้วย   พระสงฆ์ที่ผลัดเปลี่ยนกันมาถวายมิสซา คือ   คุณพ่อเปริกัล (P.Peyrical) ซึ่งเป็นพระสงฆ์ชาวฝรั่งเศส โดยจะมาเดือนละ 1 ครั้ง

ต่อมามีครอบครัวอื่นๆ จากจันทบูร ย้ายมาสมทบที่วันยาว เนื่องจากอำเภอขลุง มีทำเลที่ตั้งอยู่ในถิ่นที่อุดมสมบูรณ์ทั้งทางบกและทางทะเล จึงมีครอบครัวคริสตัง อพยพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในจำนวนผู้อพยพนี้ มีบางรายขอใช้นามสกุล "ห่อเหวียน" ด้วย เพราะขณะนั้น เป็นตระกูลที่ใหญ่กว่าตระกูลอื่น   ต่อมาก็มีการเปลี่ยนนามสกุลใหม่ เนื่องจากเห็นว่านามสกุล "ห่อเหวียน" มีสำเนียงเป็นญวน จึงเปลี่ยนเป็น "นามวงษ์" , "สุขสำราญ" , "นามกร" เป็นต้น

คุณพ่อกังตริ๊ก ตัดสินใจจะหาที่ดินสักแปลงหนึ่ง เพื่อให้ครอบครัวคริสตชนตั้งรากฐาน และสำหรับใช้เป็นสุสานด้วย และดังนี้เอง คุณพ่อหาที่ดินได้แปลงหนึ่ง ซึ่งต่อมาได้เป็นที่ตั้งของวัด ที่ดินอีกแปลงหนึ่งกว้างขวางพอจะให้คุณพ่อกังตริ๊ก ก่อสร้างเป็นตลาดเล็กๆ และทำเป็นสุสานขึ้น ที่ดินผืนนี้ตั้งอยู่สองข้างทางของตลาดวันยาว (ถนนเทศบาลสาย1)

ที่ดินแปลงนี้ได้มาเป็นกรรมสิทธิ์ในปี ค.ศ.1877 (พ.ศ.2420) หลวงจำรอง ขณะนั้นเป็นนายอำเภอเมืองขลุง ได้ประกาศสิทธิทางกฎหมายเหนือที่ดินแปลงนี้ให้แก่คุณพ่อกังตริ๊ก

20 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1878 (พ.ศ. 2421) สมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 13 (Leo XIII) ทรงดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปา

ปี ค.ศ.1879 (พ.ศ.2422) คุณพ่อกังตริ๊ก เห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องสร้างวัดใหม่ ให้กว้างขวางกว่าเดิม เพื่อให้เพียงพอกับจำนวนสัตบุรุษที่ทวีมากขึ้น จึงเลือก ที่หัวโค้งของแม่น้ำด้าน ตลิ่งงอก แต่บริเวณดังกล่าวเป็นที่ลุ่ม จำเป็นต้องถม เพื่อให้สูงพ้นน้ำเค็มที่จะท่วมเข้ามา จึงได้ก่อกำแพงอิฐทาง ด้านใต้ขึ้น และขนดิน ทราย จากบริเวณใกล้เคียงขึ้นมาถม ลักษณะของวัดใหม่นี้หันหน้าวัดลงแม่น้ำ เพราะการคมนาคมในสมัยนั้นใช้ทางน้ำเพียงทางเดียว ภายในวัดเป็นห้องโถง ไม่มีเก้าอี้การเข้าร่วมมิสซา สัตบุรุษจะต้องนั่งกับพื้น ประตูทางเข้าวัดมีทางเดียว คือ ตรงกลางด้านหน้า ส่วนทางด้านหลังวัด ใช้เป็นที่พักอาศัยของพระสงฆ์และเก็บเครื่องมิสซา วัดใหม่หลังนี้ ได้อัญเชิญ พระนามพระหฤทัย มาเป็นองค์อุปถัมภ์ของวัด โดยใช้นามว่า "วัดพระหฤทัยแห่งพระเยซูเจ้า" 

ในปี ร.ศ.112 เกิดกรณีพิพาท ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เรือลูแตงและเรือแองคองสตังต์ได้ไปยึดปากน้ำจันทบุรี ต่อมาได้มีการลงนามในสัญญาสงบศึกที่กรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ.1893 (พ.ศ.2436/ร.ศ.112) กองทหารฝรั่งเศสก็ได้ยกไปตั้งที่เมืองจันทบุรี ก่อนที่กองทหารฝรั่งเศสจะยกไป กองทหารเรือไทยที่แหลมสิงห์ และที่เมืองจันทบุรีก็ต้องย้ายมาตั้งที่เมืองขลุง

          ปี ค.ศ.1899 (พ.ศ.2442-2444) มีหลวงศรีรองเมือง (ม่วง) เป็นนายอำเภอขลุง และในปี ค.ศ.1900 (พ.ศ.2443) มีคริสตัง 72 คน
ในปี ค.ศ.1901 (พ.ศ.2444)  ผู้ว่าราชการ (ข้าหลวง) ของจันทบูร  พระยาติชายา(Phaya Cixaja) (เข้าใจว่าเป็น พระยาวิชชยาธิบดี (หวาด บุนนาค)) มีหลวงทรงพลมหาดไทย (สุข) เป็นนายอำเภอขลุง (พ.ศ.2444-2446)    อ้างว่า พื้นที่ดินซึ่งเป็นสุสานและเป็นตลาด ไม่ใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของมิสซัง กล่าวว่า โดยสมมุติฐาน เข้าใจว่า
1. มิสซังไม่มีสิทธิ์ได้มาซึ่งที่ดิน โดยไม่มีอนุมัติพิเศษจากผู้ว่าราชการ (ข้าหลวง) ไทย
2. นายอำเภอในตำแหน่งเมื่อปี ค.ศ.1877 (พ.ศ.2420) ไม่มีอำนาจมอบสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในเรื่องนี้ ผลลัพธ์ก็คือ การให้คุณพ่อกังตริ๊ก มีนิติกรรมครอบครองที่ดิน จึงเป็นโมฆะ

ดังนั้น ข้าหลวงจึงออกคำสั่ง ให้ทำลายรั้วไม้ที่ล้อมรอบสุสาน และสั่งให้คริสตชนและ     คนต่างศาสนาที่มีบ้านเรือนในตลาด งดจ่ายค่าเช่าที่ดินแก่มิชชันนารี โดยมีหลวงเสนาราชภักดี เป็นผู้ว่าราชการเมืองขลุง

คุณพ่อเปรีกาล ได้คัดค้านคำกล่าวอ้างของข้าหลวง และคัดค้านคำสั่งห้ามผู้เช่าที่ดินมิให้เสียค่าเช่าที่ดินแก่มิชชันนารี ซึ่งพวกเขาได้เคยจ่ายมาแล้วทุกปี

ข้าหลวงไม่ได้สนใจคำคัดค้านย้ำๆ หลายครั้ง ของคุณพ่อเปรีกาล   คุณพ่อจึงส่งคำร้องเรียนไปยังสถานทูตฝรั่งเศส ราชทูตฝรั่งเศสในสมัยนั้นคือ นายโกลบือบีสกี (Mr.Globubuski)  จึงมอบหมายให้ พันตรีบือลีเอร์  (Mr. le Commandant Bulier) ซึ่งเป็นผู้บังคับการกองทหารฝรั่งเศส ที่ยึดครองจันทบูรขณะนั้น ให้เจรจาต่อรองกับข้าหลวงจันทบูร เพื่อคืนความยุติธรรมแก่มิสซังจันทบูร

          ข้าหลวงจันทบูรปฏิเสธอีกครั้งที่จะคืนความยุติธรรมแก่มิสซัง   เมื่อได้รับคำปฏิเสธนายพันตรี แห่งกองทหารฝรั่งเศส ซึ่งได้รับคำสั่งจากราชทูตแห่งประเทศฝรั่งเศส ได้ส่งทหารมาที่วันยาว พร้อมคำสั่งให้ขับไล่ออกจากที่ดินของมิสซัง ซึ่งบรรดาคนที่ปฏิเสธไม่ยอมจ่ายค่าเช่าประจำปีแก่มิชชันนารี คือ ค่าเช่าบ้านที่สร้างบนที่ดินแถบตลาด พวกทหารฝรั่งเศสที่ได้รับคำสั่งจากร้อยเอกดือแมสเตรอ(Mr.Dumaistre) ได้ทำลายบ้านของคนเหล่านี้ และจำคุก รองข้าหลวงแห่งจันทบูร
ไม่กี่วันหลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ คุณพ่อเปรีกาล และคุณพ่อการ์ตอง (Carton) ได้มาที่วันยาว ได้ทำแผนผังที่ดินที่เป็นของวัด ได้ปักหลักเขตใหม่แทนหลักเขตเก่า ซึ่งคนต่างศาสนาได้ทำลายสูญหายไป การกระทำนี้ เป็นที่รับรู้ของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ไม่มีการคัดค้านเกิดขึ้นจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น

13 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1903 (พ.ศ.2446/ร.ศ.122) ประเทศไทยได้ทำอนุสัญญากับฝรั่งเศสอีกฉบับหนึ่ง ฝรั่งเศสจึงถอนทหารออกไปจากเมืองจันทบุรี แล้วไปยึดครองเมืองตราด

        4 สิงหาคม ค.ศ. 1903 (พ.ศ. 2446) สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 10 (Pius X) ทรงดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปา

        ค.ศ. 1904 (พ.ศ. 2447) มีหลวงประสิทธิ์พลรักษ์ (อ๊อด สาณเสน) เป็นนายอำเภอขลุง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้จัดระเบียบการปกครองตามแบบมณฑลเทศากิจแผนใหม่แล้วเมืองขลุง จึงมีฐานะเป็นอำเภอ เรียกว่า อำเภอขลุงขึ้นกับเมืองจันทบุรี มณฑลจันทบุรี

อำเภอขลุงได้รับการยกระดับเป็นเมืองอีกวาระหนึ่ง มีฐานะเป็นเมืองจัตวา เรียกว่า  “เมืองขลุง”   ดังสำเนาประกาศ

  

ประกาศตั้งมณฑลจันทบุรี และตั้งเมืองขลุง
มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า อำเภอทุ่งใหญ่ ๑ อำเภอขลุง ๑ รวม ๒ อำเภอนี้ สมควรจะยกเป็นเมืองหนึ่งได้ จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้รวมอำเภอทุ่งใหญ่(๑) กับอำเภอขลุง ยกขึ้นเป็นเมืองจัตวา เรียกว่า เมืองขลุง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองจันทบุรี ๑ เมืองระยอง ๑ เมืองขลุง ๑ เป็นมณฑลเทศาภิบาล เรียกมณฑลจันทบุรี  โปรดเกล้าฯ ให้พระยาวิชยาธิบดี เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลจันทบุรีสืบไป
                   ประกาศมาแต่วันที่ ๔ เมษายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๕ (๒)

                                                                (ลงพระนาม)     ดำรงราชานุภาพ
                                                                                      เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

หมายเหตุ : (๑) ปัจจุบันคืออำเภอเขาสมิง          ( ๒) พ.ศ.2449 / ค.ศ.1906

          ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลวงเสนาราชภักดี ยกกระบัตรเมืองจันทบุรี เป็นผู้ว่าราชการเมืองขลุง


        ค.ศ.1908 (พ.ศ. 2451) เมืองขลุง ได้ยุบเป็นอำเภอขึ้นกับเมืองจันทบุรีมีพระพิศลศรีขรคุณ (มิ่ง  ปริชญานนท์) เป็นนายอำเภอขลุง (พ.ศ. 2451-2452)

        ปี 1909 (พ.ศ.2452) คุณพ่อแฟฟร์ (P.Faivre) ได้ขอนายอำเภอเมืองขลุง (พระพิศลศรีขรคุณ (มิ่ง ปริชญานนท์) ร.ศ.128) ให้ยืนยันเขตที่ดินเป็นของมิสซัง และขอให้ออกสิทธิบัตรตามกฎหมายให้ด้วย นายอำเภอได้ยืนยันเขตที่ดิน และหลังจากนั้นไม่กี่วัน ก็ได้ออกสิทธิบัตรเป็นทางการให้คุณพ่อแฟฟร์ รับรองว่าที่ดินแปลงนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของมิสซัง

          ส่วนที่ดินอื่นๆ อีกหลายแปลง คุณพ่อเปรีกาลได้จัดหาในปี ค.ศ.1902 และในปี ค.ศ.1912 ที่ดินเหล่านี้ตั้งอยู่ใกล้กับวัด

ในปี ค.ศ.1910 (พ.ศ.2453) มีคริสตัง 220 คน

ในปี ค.ศ.1911 (พ.ศ.2454) จำนวนสัตบุรุษเพิ่มมากขึ้น ทำให้วัดดูคับแคบ ประกอบกับ วัสดุต่างๆ ก็เริ่มเสื่อมสภาพลง คุณพ่อแฟฟร์ จากวัดจันทบุรีที่มาถวายมิสซา จึงได้ตกลงใจที่จะสร้างวัดหลังที่สองขึ้น โดยให้ช่างเส็ง (บิดานายจั้ว นิโรภาส) ซึ่งเป็นคริสตังชาวจีน ที่ย้ายมาจากจันทบุรี เป็นผู้ดำเนินการสร้าง นายเส็งผู้นี้เป็นต้นตระกูล "นิโรภาส" สำหรับเงินที่ใช้ในการก่อสร้าง ได้เรี่ยไรจากสัตบุรุษวัดขลุงบ้าง จากสัตบุรุษวัดจันทบุรีบ้าง วัดหลังนี้ใหญ่ และแข็งแรงกว่าเดิมมาก มีหอระฆังอยู่ที่มุมวัด ลักษณะของหอระฆังเป็นจั่วแหลมขึ้นไปตามสมัยนิยม ทั้งนี้ คุณพ่อได้วางแปลนไว้เผื่อสำหรับขยายออกให้กว้างได้ โดยไม่ต้องรื้อโครงสร้างเดิมออก เมื่อต้องการต่อเติมในภายหน้า



          คุณพ่อแฟฟร์ (P.Faivre) ได้ติดตั้งมรคากางเขน (รูป 14 ภาค) โดยท่านได้เขียนบันทึกไว้ดังนี้

ปี ค.ศ.1911 วันที่ 9 เดือนกรกฎาคม อาศัยอำนาจที่สันตะสำนักมอบให้, ข้าพเจ้า ลูโดวีโก แฟฟร์ (Ludovicus Faivre) ได้ติดตั้งมรคากางเขน1 พร้อมกับพระคุณการุณที่พ่วงท้าย ในวัดน้อย  พระหฤทัยแห่งพระเยซูเจ้า ตามกฎเกณฑ์ของสมณกระทรวงพระคุณการุณที่บัญญัติไว้ เดือนพฤษภาคม 1742
เพื่อเป็นสักขีพยาน ข้าพเจ้าได้บันทึกไว้ด้วยลายมือข้าพเจ้าเองในวันนี้ เดือนกรกฎาคม 1911
                                                                                                    หลุยส์ แฟฟร์

หมายเหตุ :- 1 มรคากางเขน อารามเซนต์ยอแซฟ กรุงเทพฯ เป็นผู้ถวาย


ในปี 1913 (พ.ศ.2456) สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าหลังเล็กๆ ถูกสร้างขึ้น  โดยคุณพ่อเปรีกาล มี   ซิสเตอร์ 3 คน จากจันทบูร เป็นผู้ดูแล และยังสร้างโรงเรียนเล็กๆ หลังหนึ่ง ให้ซิสเตอร์คนหนึ่งดูแลเช่นกัน
กันยายน ค.ศ. 1914 (พ.ศ. 2457) สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 15 (Benedict XV) ทรงดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปา
 ในปี 1915 (พ.ศ.2458) มีคริสตัง 290 คน สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าหลังใหม่กว้างขวางกว่า สร้างขึ้นแทนหลังเก่า
คุณพ่อที่มาเยี่ยมสัตบุรุษ  สอนคำสอน และโปรดศีลเป็นประจำคือ  "คุณพ่อยอแซฟ (Joseph)"  คุณพ่อใช้ม้าเป็นพาหนะในการเดินทางจากจันทบุรี มายังอำเภอขลุง และจะพำนักอยู่ที่ขลุงครั้งละ 1 หรือ 2 สัปดาห์ เป็นประจำเช่นนี้ นานพอสมควร
 จนกระทั่งถึงปี ค.ศ.1916 ชุมนุมคริสตชนขลุง กับวัดจันทบูร ในระหว่างยุคนี้ มิชชันนารี ที่มีหน้าที่ดูแลกลุ่มคริสตชนขลุง คือ  คุณพ่อกังตริ๊ก (PP.Quentric),  คุณพ่อเดสซาลส์   (Dessalles), คุณพ่อกืออาซ (Cuaz), คุณพ่อยอแซฟ(Joseph), คุณพ่อจือกลาร์(Juglar), คุณพ่อเปรีกาล(Peyrical), คุณพ่อท็อกแกลร์(Chockler), คุณพ่อการ์ตอง(Carton), คุณพ่อแฟฟร์(Faivre) และคุณพ่อบองวังต์ (Bonvent)

เจ้าหน้าที่ซึ่งถูกแต่งตั้งของชุมนุมคริสตชนแห่งจันทบูรด้วยการเลียนแบบเขตปกครองมิสซังโคจินจีน (Cochinchine) ผู้ปกครองมิสซังแห่งประเทศสยาม ได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ในชุมชน คริสตชนอันนาม (anamites) เจ้าหน้าที่เหล่านี้ เป็นผู้ช่วยมิสชันนารี เพื่อรักษาระเบียบเรียบร้อยและความร้อนรน ในท่ามกลางคริสตชน พวกเขายังมีพันธกิจที่จะเยี่ยมเยียนคนเจ็บป่วย และเตรียมคนป่วยให้ตายอย่างศักดิ์สิทธิ์ เตือนคนบาปเปิดเผยให้กลับใจ และแจ้งให้มิสชันนารีทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในกลุ่มคริสตชน ที่สุดพวกเขาเป็นผู้ปรึกษาของมิสชันนารี ในเรื่องที่เกี่ยวกับกลุ่มคริสตชนจันทบูร

ข้อพิสูจน์เป็นที่ประจักษ์ว่า เจ้าหน้าที่นี้ได้ให้บริการประเสริฐยิ่ง แก่กลุ่มคริสตชน แต่น่าเสียดาย ตั้งแต่เริ่มศตวรรษที่ 20 พวกเขา (เจ้าหน้าที่เหล่านี้) ได้สูญเสียอิทธิพลที่เขาเคยมีแต่ก่อน สาเหตุก็คือ จิตตารมณ์แห่งอิสรภาพของบรรดาคริสตัง จิตตารมณ์-แห่งอิสรภาพนี้ ยิ่งวันยิ่งเพิ่มขึ้น

พระสังฆราชผู้ปกครองมิสซังสมัยนั้น เป็นผู้คัดเลือกเจ้าหน้าที่เหล่านี้ เจ้าหน้าที่แบ่งออกเป็นแผนก ดังต่อไปนี้
           องตรุ้ม (Ong Crum) เป็นหัวหน้ากลุ่มคริสตชน
                    องเกา (Ong Cau)เป็นผู้ช่วยองตรุ้ม
                    องเบี่ยน (Ong Bien) ทำหน้าที่เป็นครูสอนคำสอน และเป็นเวรก่อสวดเป็นทางการ
                    องท็องก็อง (Ong Thong Cong) ช่วยมิสชันนารีในเรื่องเกี่ยวกับวัตถุ และระงับข้อพิพาทระหว่างคริสตชน
                    องย้าบ (Ong Giap)ได้รับภาระหน้าที่เยี่ยมเยียนคนป่วยโดยเฉพาะ และเป็นผู้ช่วยเหลือพวกเขาในยามเจ็บป่วย
(ดูภาษาเดิมท้ายเล่ม)
    ในปี ค.ศ.1916   ชุมนุมคริสตชนกลุ่มนี้มีพันธะขึ้นกับจันทบูร  และอยู่ในการดูแลของ คุณพ่อกาลังย์(P.Calenge) ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศส และในเวลานั้นคุณพ่อก็ยังคงอาศัยห้องหลังวัดเป็นที่พักผ่อนหลับนอน ต่อมา คุณพ่อ ได้สร้างบ้านไม้ขึ้น เพื่อใช้เป็นบ้านพักพระสงฆ์ ซึ่งเป็นหลังแรก ในปี ค.ศ.1917 (พ.ศ.2460)

     และในปี ค.ศ.1917 (พ.ศ.2460) นี้เอง คุณพ่อกาลังย์ ได้ขยายปีกวัดทั้งสองข้างออกไปอีก เพื่อให้เพียงพอกับจำนวนของสัตบุรุษ ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การสร้างและขยายวัดในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากสัตบุรุษวัดขลุงเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านแรงงาน เนื่องจากพื้นที่ ที่ใช้สร้างครั้งนี้เป็นที่ลุ่ม ลึกประมาณ 1 เมตร คุณพ่อกาลังย์จึงเริ่มด้วยการระดมกำลังของสัตบุรุษวัดขลุงช่วยกันถมที่ ซึ่งติดกับถนนคริสต์อุดม (ถนนเทศบาลสาย 2) เพื่อสร้างเป็นบ้านพักของพระสงฆ์ วัสดุที่ใช้ถมก็คือ ดิน ทราย และเปลือกไม้โกงกาง ซึ่งได้มาจากการกะเทาะเปลือก โดยคนเผาถ่าน(ตาย่าน, ส่วนบริเวณเตาเผาถ่านคือบริเวณบ้านนายใจ ลัดลอย ในปัจจุบัน) จะกะเทาะออก สัตบุรุษระดมกำลังช่วยกันถมสัปดาห์ละครั้ง ดังนั้น กว่าจะเต็มบริเวณที่สร้างก็ใช้เวลาเป็นปี

ปี 1921 สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าหลังใหม่ กว้างขวางกว่าเก่าอีก ถูกสร้างแทนหลังเก่า เพื่อใช้เป็นบ้านสำหรับซิสเตอร์หรือครูใหญ่โรงเรียน และเพื่อเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กหญิงอีกด้วย โดยใช้ชั้นล่างเป็นสถานที่เรียน

ในปีเดียวกันนี้ บ้านหลังแรกซึ่งเคยเป็นบ้านพักมิสชันนารี ก็กลายเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กชาย คุณพ่อกาลังย์เป็นผู้สอนภาษาญวน ครูสุด (ไม่ทราบนามสกุล) เป็นครูสอนภาษาไทย

          ปี 1925 (พ.ศ.2468) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีคริสตัง 515 คน

ในปี 1926 (พ.ศ.2469) คุณพ่อกาลังย์ได้สร้างหอระฆังเล็กๆ ขึ้น เพื่อรองรับระฆังใบใหม่ ซึ่งถวายโดยนางตรินห์ (Crinh) ภรรยาหม้ายของนายไง (Ngay) แห่งจันทบูร ระฆังนี้ คุณพ่อเปรีกาลเป็นผู้เสกในปี ค.ศ. 1926

ตั้งแต่ต้น การตั้งถิ่นฐานกลุ่มคริสตชน จนกระทั่งปี ค.ศ.1926 มีสุสานเพียงแห่งเดียว อยู่ใกล้ตลาดวันยาว

ต่อมา(ไม่ทราบปีที่แน่ชัด) นายเดี่ย-นางเนน นามวงษ์ ได้ยกที่ดินซึ่งในขณะนั้นส่วนใหญ่พื้นที่เป็น ป่าจาก ให้ทางวัดใช้เป็นสุสาน จวบจนปัจจุบัน โดยทางวัดมีสัญญาว่า  บุตรของนายเดี่ย ทุกคน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่ดินฝังศพ

หลวงสาครคชเขต (ประทวน  สาคริกานนท์) เป็นนายอำเภอขลุง ตั้งแต่ปี ค.ศ.1929 (พ.ศ.2472-2473)

ขุนการกิจสิทธิ์ (ทองคำ  ศุภจัมปิยะ) เป็นนายอำเภอขลุง ตั้งแต่ปี ค.ศ.1930 (พ.ศ.2473-2479)

หลังจากนั้นคุณพ่อกาลังย์ ก็เริ่มเจ็บป่วย สุขภาพไม่แข็งแรง จึงต้องกลับไปรักษาตัวที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี ค.ศ.1930 (พ.ศ.2473)

คุณพ่ออัลฟองส์ (Alphonse) ตรี ทรงสัตย์ คุณพ่อเป็นพระสงฆ์สังกัดมิสซังกรุงเทพ มาเป็นเจ้าวัดขลุงแทน ตั้งแต่ปี ค.ศ.1930 (พ.ศ.2473) ถึง ปี ค.ศ.1932 (พ.ศ.2475) คุณพ่อเสียชีวิตเมื่อ 11 ตุลาคม ค.ศ.1938 (พ.ศ.2481)
  

ปี ค.ศ.1932 (พ.ศ.2475)     คุณพ่อเทโอฟาน (Theophane) หลง มีเฟื่องศาสตร์ ก็เข้ารับตำแหน่งเจ้าวัด เป็นองค์ถัดมา คุณพ่อได้ต่อหน้ามุกวัดเป็นจั่วแหลม และได้ขยายพื้นที่หน้าวัดออกไปอีกประมาณ 20 เมตร เพราะหน้าวัด อยู่ห่างจากชายเลนลาดลงไปในคลอง ประมาณ 8 เมตร โดยทำการก่อกำแพงดินสูงเกือบ 2 เมตร โดยใช้แกลบจากโรงสีเจ็กคุณที่คลองลัด (คลองขลุง) มาถม โดยอาศัยแรงงานของนักเรียนและสัตบุรุษบางคน ช่วยกันถมจนเต็ม เท่ากับพื้นที่เดิมของวัด จากนั้นใช้ดินปนทรายจากคลองหน้าวัด ถมทับบนแกลบอีกชั้นหนึ่ง หนาประมาณ 15-20 เซนติเมตร และในขณะนั้น ทางราชการด่านศุลกากร (ป่าไม้)ได้ยุบสำนักงาน ซึ่งตั้งอยู่ปากคลองขลุง (หัวด่าน) และได้ประกาศขาย ตัวเรือนทั้งหลัง คุณพ่อเทโอฟาน จึงซื้อไว้ แล้วยกมาทำศาลาหน้าวัด โดยใช้วิธี หล่อเสาปูนเตรียมไว้ แล้วเลื่อยเสาของสำนักงานฯ รอไว้ เมื่อน้ำขึ้น ก็เอาเรือลอดใต้สำนักงานฯ ให้ตัวอาคารลอยขึ้น แล้วล่องมาตามน้ำมาต่อเข้ากับเสาที่หล่อเตรียมไว้


       วันที่  2  มีนาคม ค.ศ.1934 (พ.ศ. 2477)  พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล  เสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี      
          คุณพ่อเทโอฟาน ท่านเป็นคนที่เคร่งครัดการใช้ภาษาญวนมาก โดยในการเรียนการสอนคำสอนของท่านต่อเด็กๆ สมัยนั้น ท่านมีวิธีการอันแยบยล กล่าวคือ ท่านได้ให้เด็กผู้ชายจับคู่กับเด็กผู้หญิง แล้วผลัดกันท่อง  คำสอน (บทสวด) ใครท่องไม่ได้ ก็ให้อีกฝ่ายหนึ่งทำโทษโดยการตีก้น 3 ครั้ง โดยผู้ที่ดำเนินชีวิตสมัยนั้นเล่าว่า คู่ของนายแอ สุพรรณพยัคฆ์ กับนางเกษร นามวงษ์ (ภรรยานายปรีชา นามวงษ์) มีวีรกรรม กล่าวคือ เมื่อนายแอท่องไม่ได้ ก็ถูกนางเกษร ทำโทษ และเมื่อถึงคราวที่นางเกษรท่องไม่ได้บ้างก็ถูกนายแอทำโทษ ในความเป็นผู้หญิงซึ่งกลัวการตีอยู่แล้ว เมื่อถูกทำโทษถึงกับปัสสาวะราดทันที สร้างความสนุกสนาน ความกลัวและก่อให้เกิดความตั้งใจ ให้กับเพื่อนๆ ขึ้นมาในคราวเดียวกัน

1  พฤษภาคม ค.ศ.1936 (พ.ศ.2479-2484)  ขุนบรรณาการ (อั๋น  สร้อยทอง) นายอำเภอแหลมสิงห์ ย้ายมาดำรงตำแหน่งนายอำเภอขลุง ท่านผู้นี้ได้สร้างถนนดินหลายสายให้กับอำเภอขลุง โดยไม่ต้องใช้เงินจากทางรัฐ แต่ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านในด้านแรงงานอย่างดีเยี่ยม


คุณพ่อเทโอฟาน ท่านเป็นผู้มีความสามารถทางด้านดนตรีท่านหนึ่ง ดังนั้นสมัยของท่านจึงมีการตั้งวงดนตรีขึ้นวงหนึ่ง ซึ่งเป็นแตรวง โดยมอบหมายให้นายเปโตร(โกร) ลัดลอย เป็นผู้ช่วยฝึกซ้อมสัตบุรุษร่วมกับท่านด้วย ทั้งนี้เพื่อใช้เล่นในโอกาสสำคัญๆ ต่างๆ ทั้งของวัดและของหน่วยงานทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ ที่ว่าการอำเภอขลุงในสมัยขุนบรรณาการ (อั๋น สร้อยทอง) เป็นนายอำเภอ นายจำรัส ชีรานนท์ ซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูง (ปลัดซ้าย) ขณะนั้น ได้เชิญให้วงนี้ไปเล่นต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองมาแล้ว ในวงประกอบด้วย นายเปโตร(โกร) ลัดลอย (หัวหน้าวงและเป่าคลาริเนต), นายปา สุขสำราญ (คลาริเนต), นายชีตา ลัดลอย (คอร์เน็ท), นายเอี่ยม สุขสำราญ (คอร์เน็ท), นายคี ห่อเหวียน (บารีบาริโทน), นายลอ สุขสำราญ (เบส-Eb), นายมณเทียร นามวงษ์ (อันโต 1),นายดาง ห่อเหวียน (อันโต 2), นายเทียง สุขสำราญ (กลองใหญ่),นายเคียม  มัจฉาชีพ(กลองแต็ก) นายดางเล่าว่าเคยมีการถ่ายภาพสมาชิกของวงร่วมกับคุณพ่อไว้ด้วย โดยช่างถ่ายรูปชาวญี่ปุ่น ซึ่งยังเป็นคนหนุ่ม ที่มาอาศัยอยู่ตลาดขลุง แต่ปัจจุบันรูปนี้สูญหายไปแล้ว

และในโอกาสสำคัญๆ เช่น ฉลองวัด, แห่ศีลมหาสนิท หรือที่มีบุษบก ก็จะจัดชาวบ้านแต่งกายในชุดทหารโรมัน (เสือสีแดง+กางเกงสีดำ+หมวกโรมัน+อาวุธไม้ที่มีปลายเป็นหอกถัดลงมาเป็นขวานและด้ามถือตามลำดับ) จำนวน 1 หมู่ (12 คน) เดินขนาบข้างไปกับบุษบก ข้างละ 6 คน ในส่วนของแตรวงก็จะเดินนำขบวนไป

ปราบจระเข้
      คลองขลุงในสมัยนั้น มีจระเข้ชุกชุมมาก จากคำบอกเล่า ว่ามีอยู่วันหนึ่ง นายซาง พูลกิจ ไปงมไม้ที่แช่อยู่ในน้ำ บริเวณคลองขี้หมา (บริเวณบ่อบำบัดฯ เทศบาล) นำขึ้นเรือ เพื่อนำไปเผาถ่าน ซึ่งขณะนั้นน้ำก็ไม่ลึกมาก พอยืนได้สบายๆ  ขณะงมอยู่เพลินๆ ก็มีจระเข้ตัวหนึ่งว่ายมางับเข้าที่กลางหลัง ด้วยความตกใจจึงกระโดดขึ้นเรือแล้วรีบพายกลับบ้าน นับเป็นความโชคดีของนายซางที่จระเข้งับแนวเดียวกับลำตัว ไม่ได้งับขวางลำตัว ทำให้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ไม่ถึงแก่ชีวิต แต่ก็ต้องนอนพักรักษาตัวอยู่นานพอควร

ทั้งนี้เนื่องจากจระเข้ ได้สร้างความเดือดร้อนในเรื่องความเป็นอยู่และการทำมาหากินของชาวบ้าน เป็นอย่างยิ่ง เช่น มาลอบขโมยเป็ดไก่ใต้ถุนบ้านไปกินบ้าง ลอยตัวขึ้นมาข้างเรือทำให้เกิดความหวาดกลัวบ้าง ฯลฯ เป็นต้น ดังนั้นจึงทำให้เกิดการล่าขึ้น โดยนายดาง ห่อเหวียนและนายน่าว ผู้เป็นบิดา เมื่อกลับจากการหาปลา ก็จะนำอวนมาล้อมจับจระเข้ ในสมัยนั้นมีนายจิตและนายจวน มาลานิยม สองพี่น้อง เป็นผู้ที่ชำนาญการจับ เมื่อได้ตัวแล้ว ก็จะทำการชำแหละเนื้อแบ่งกันบริโภคในหมู่บ้าน ที่เหลือก็นำไปขาย ส่วนหนังก็นำไปขาย แต่ก็ยังไม่ได้หมดไปจากคลองขลุง

ทั้งนี้นอกจากการล่าโดยมืออาชีพแล้วยังมีคำบอกเล่าว่าชาวบ้านธรรมดาก็ยังมีมาตรการป้องกันจระเข้ที่ชอบมาลอยตัวข้างเรือ ซึ่งเป็นไปได้ว่าจระเข้จะมาทำร้ายเขา เพราะจระเข้เป็นสัตว์ที่กินอาหารดิบๆ ชาวบ้านจึงกลัวกันนักหนา  วิธีการของชาวบ้าน ก็คือการใช้ฟักเขียวหรือแฟง ต้มน้ำทั้งลูกให้สุก ขณะที่ร้อนจัด ก็โยนฟักนั้นลงตรงปากจระเข้ที่ว่ายตามเรืออยู่ จระเข้จะฮุบฟักนั้นแล้วกลืนเข้าไปในท้องทันที เพราะคิดว่าเป็นคนตกน้ำ  จระเข้ตัวไหนตัวนั้น เมื่อกลืนฟักที่กำลังร้อนระอุเข้าไปทั้งลูกอย่างนั้น ก็จะเลิกตามทันที และไม่ช้าก็จะหงายท้องตาย

การคมนาคมในสมัยนั้นใช้ทางน้ำเป็นหลัก เพราะทางบกยังเป็นเรื่องยุ่งยากมาก เนื่องจากการเดินทางจากขลุงไปจันทบุรีต้องใช้เวลาประมาณกว่า 3 ชั่วโมง คลองขลุงซึ่งมีความกว้างและลึกมาก (ลึกประมาณ 6 วา/12 เมตร) ทำให้มีเรือสินค้าลำใหญ่ๆ เข้ามารับและส่ง สินค้า ซึ่งเป็นพวกถ่าน,มะพร้าว, ผลิตภัณฑ์จากป่า ฯลฯ ในคลองขลุงชั้นใน และสามารถกลับลำเรือได้ ส่วนทางด้านนอก (ด่าน) จะเป็นเรือเหล็กโดยสาร/ส่งสินค้าขนาดใหญ่ ซึ่งล่องมาจากกรุงเทพ-ปากน้ำสมุทรปราการ-ชลบุรี-ระยอง-จันทบุรี-ท่าแฉลบ-เมืองขลุง-เกาะช้าง-เกาะง่าม-เกาะกง และรับสินค้า/คนกลับไปกรุงเทพตามเส้นทางเดิม ซึ่งเรือมีความยาวประมาณ 1-2 เส้น (40-80 เมตร) เช่น เรือของบริษัทอีสต์เอเชียติก , เรือวลัย, เรือนภา, เรือประดิษฐ์ศิลป์, เรือสำราญวารี , เรืออ่างหิน (ซึ่งจมลงที่ท่าแฉลบ) เป็นต้น

ปี ค.ศ.1937 (พ.ศ.2480) เกิดคดีอุกฉกรรจ์ ขึ้นที่ตลาดขลุง (ของวัด) - ตำบลซึ้ง กล่าวคือ มีการตามจับเสือนุช คงเจริญ (อายุ 25 ปี) ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ถึง 11 ราย เป็นเรื่องที่นายจินดา ทรงธรรม (ปี 2551 อายุ 90 ปี) ได้บันทึกเหตุการณ์สำคัญนี้ไว้ ทั้งนี้เป็นเพราะความเข้าใจผิดและความอิจฉาริษยาของคนกลุ่มหนึ่ง ต่อคนๆหนึ่ง ทำให้เกิดเหตุวุ่นวายทั้งในวงการราชการ และสะเทือนขวัญของผู้คนในสมัยนั้น

2 มีนาคม ค.ศ. 1939 (พ.ศ. 2482) สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 12  (Pius XII) ทรงดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปา

 
ปี ค.ศ.1939 (พ.ศ.2482) คุณพ่ออันตน (Antoine) ตาน   โชติผล สงฆ์ชาวไทย สงฆ์พื้นเมือง เข้ารับตำแหน่งเจ้าวัด ท่านย้ายมาจาก วัดพระคริสตประจักษ์ เกาะใหญ่ อ.บางไทร  จ.พระนครศรีอยุธยา


ปี ค.ศ.1940 (พ.ศ.2483) เกิดเหตุการณ์กรณีพิพาทอินโดจีน และเกิดยุทธนาวีเกาะช้างขึ้นเมื่อ วันที่ 17 มกราคม ปี ค.ศ.1941 (พ.ศ. 2484)   และเกิดสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อ วันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1941 (พ.ศ. 2484) กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกในหลายจังหวัด และญี่ปุ่นได้ยอมจำนนเมื่อ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2488)

ค.ศ. 1941 (พ.ศ. 2484) นายบรรเทอญ  อมาตยกุล  มาดำรงตำแหน่ง นายอำเภอขลุง  บริเวณซึ่งเคยสุสานเดิมที่ตลาด วัดได้ให้เช่าที่ดิน ผู้เช่าจึงได้เปิดเป็นโรงแรมให้เช่าพัก (ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เดินทางมาค้าขาย) โรงแรมนี้ชื่อ ปักฮะ” (เป็นแห่งที่สองของขลุง เดิมมีโรงแรมชื่อ ช่วนหลีซึ่งอยู่เยื้องกับขลุงมูลนิธิด้านถนนเทศบาลสาย 1) และต้องปิดตัวไปหลังสงครามเสร็จสิ้น ด้วยเหตุผลใดไม่แน่ชัด จากนั้นโรงแรม ปลาทองจึงเปิดเป็นลำดับที่สาม

ค.ศ. 1942 (พ.ศ. 2485) นายราตรี  ศรีนรา  มาดำรงตำแหน่ง นายอำเภอขลุง



10 ธันวาคม ค.ศ.1944 (พ.ศ. 2487) สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 12 ได้ประกาศแต่งตั้งพระสังฆราชไทยองค์แรก คือ พระสังฆราชยาโกเบ แจง    เกิดสว่าง ทั้งนี้ก็เพราะพระสังฆราชต่างชาติ ยิ่งวันยิ่งปฏิบัติหน้าที่ไม่สะดวก เพราะสาเหตุทางการเมืองไม่อำนวย


วันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1944 (พ.ศ. 2487)  สังฆมณฑลจันทบุรี แยกออกต่างหากจากสังฆมณฑลกรุงเทพฯ มีชื่อว่า มิสซังจันทบุรีซิสเตอร์คณะพระหฤทัยฯ กรุงเทพ ที่เคยทำงานอยู่ ที่วัดต่างๆ ในสังฆมณฑลจันทบุรีก็กลับเข้าประจำคณะ



         ปี ค.ศ.1945 (พ.ศ.2488) คุณพ่ออันตน ได้ซ่อมแซมและขยายวัดน้อย ซึ่งเล็กเกินไป เนื่องจาก คริสตังทวีมีจำนวนมากขึ้น ในสมัยนั้นมีนายกนก  กงกะนันท์ เป็นนายอำเภอขลุง (พ.ศ.2488-2490)

          วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี
6 เมษายน ค.ศ.1946 (พ.ศ.2489) หน่วยงานบริหารราชการส่วนท้องถิ่นยกระดับเป็น เทศบาล มี นายประสิทธิ์  สาณะเสน เป็นนายกเทศมนตรี     เดือนมิถุนายนในปีเดียวกัน คุณพ่ออันตน ได้สร้างบ้านพักซิสเตอร์และโรงครัว สิ้นค่าใช้จ่าย 6,712.05 บาท

        คุณพ่ออันตน เป็นห่วงสัตบุรุษวัดขลุงมาก เนื่องจากสัตบุรุษเป็นคนยากจน เมื่อเด็กเรียนไปได้ระดับหนึ่งก็ต้องให้ออกมาช่วยงานครอบครัว ออกเรือลงทะเล ส่วนผู้หญิงส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ทำงานอะไรเป็นหลัก สมัยนั้นนิยมทอเสื่อแล้วแปรรูปเป็นกระเป๋า ฯลฯ คุณพ่อจึงอยากให้ทุกครัวเรือนมีงานทำเป็นหลักบ้าง จึงได้พยายามส่งเสริมอาชีพทอเสื่อเป็นอุตสาหกรรมแบบครบวงจร ทั้งนี้ได้ซื้อที่ดินของนายเดช แปลงหนึ่ง ซึ่งมีหลายไร่ (บริเวณซอยแสนสุขในปัจจุบัน)

จากนั้นคุณพ่อจึงหาคนมาขุดดินทำคันนาเพื่อปลูกต้นกก โดยมีผู้ช่วยหลักๆ   คือ องตรุ้ม เด้น นามวงษ์, องย้าบ เดือก สุพรรณพยัคฆ์ และลูกศิษย์ (นายใจ ลัดลอย ขณะนั้นอายุ 12 ปี) ช่วยกันปลูกกก แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของสัตบุรุษ   ดังนั้น  จึงมีการไปจับจองที่ดินรกร้างว่างเปล่า บริเวณปากคลองบ้านหวัก ต.บ่อ ประมาณ 200 ไร่ เพื่อใช้เป็นที่ปลูกต้นกก โดยสัตบุรุษประมาณ 4-5 ครอบครัว อพยพไปอยู่ที่นั่น เช่น ครอบครัวนายน่าว ห่อเหวียน, ครอบครัวนายเด้น นามวงษ์, ครอบครัวนายเดี๋ยม ปลาทอง เป็นต้น โดยมีการสร้างวัดน้อยหลังคามุงจากขึ้นด้วย   แต่เนื่องจากสภาพดิน และปัญหาเรื่องแหล่ง น้ำจืด ทำให้โครงการนี้ล้มเลิกไป

นอกจากนี้ คุณพ่อยังมีความสามารถในด้านการแพทย์อีกด้วย กล่าวคือ   คุณพ่อสามารถปรุงยาสมุนไพรได้หลากหลาย ทั้งยาใช้ภายใน - ภายนอก และได้ถ่ายทอดให้สัตบุรุษหลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายเด้น นามวงษ์ ได้รับการถ่ายทอดวิธีปรุงน้ำมันรักษาแผลภายนอก ที่รู้จักในชื่อ น้ำมันตาเด้น ซึ่งยังสืบทอดมาจนปัจจุบัน

ในการสวดภาวนาภาษาญวน ซึ่งมี 2 ทำนอง คือ การสวดทำนองแบบญวนสามเสน และแบบญวนจันท์ คุณพ่อให้ใช้ลักษณะการสวดแบบทำนองญวนสามเสน

 คุณพ่อต้องเดินทางไปประชุมที่วัดจันท์ทุกเดือน  คุณพ่อเดินทางโดยเรือแจวไปทางแม่น้ำด้านยาว  เข้าท่าแฉลบ เข้าแม่น้ำจันทบุรี การเดินทางไปประชุมและกลับใช้เวลา 3 วัน ผู้ร่วมเดินทาง/คนแจวเรือ คือ องตรุ้ม เด้น นามวงษ์,  องย้าบ เดือก  สุพรรณพยัคฆ์ และลูกศิษย์

ทางด้านการโรงเรียน ใช้ชื่อว่า โรงเรียนราษฎร์พระหฤทัยซึ่งใช้บ้านพักพระสงฆ์และบ้านพักซิสเตอร์ เป็นโรงเรียน ครูในขณะนั้นคือ ครูยวงฮว๊าก คุโรวาท และครูกวา ปลาทอง ทั้งสองสอนกัน 4 ชั้นเรียน

ต่อมาครูยวงฮว๊าก คุโรวาท ลาออกไปสอนโรงเรียนรัฐบาล จึงมีครูอัมพร นัมคณิสรณ์ (บิดาคุณพ่อสุพจน์  นัมคณิสรณ์)  มาสอนแทน


เมื่อเกิดกรณีพิพาทอินโดจีน โรงเรียนก็ถูกสั่งยุบ และห้ามใช้ภาษาญวนในการสวด หรือการใดๆ  การสวดภาวนาในวัด ก็ต้องใช้เป็นภาษาไทย ซึ่งผู้ที่เจริญชีวิตในสมัยนั้นส่วนใหญ่ถนัดในด้านการใช้ภาษาญวน จึงหาผู้ที่ก่อสวดภาษาไทยค่อนข้างลำบาก นักเรียนก็ต้องย้ายไปเรียนที่   โรงเรียนบุรวิทยาคาร (เทศบาล) ซึ่งต้องเดินไปไกลมาก ผู้ที่เจริญชีวิตในสมัยนั้นเล่าว่า เด็กนักเรียนที่ไปจากโรงเรียนราษฎร์พระหฤทัย จะถูกบังคับให้ละทิ้งศาสนาในกิจกรรมลักษณะต่างๆ เมื่อไม่ทำก็จะต้องถูกทำโทษ ทำให้บางคนไม่กล้าไปโรงเรียนและออกไปในที่สุด ทำให้หลายคนไม่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4

        ประมาณปี ค.ศ.1946 (พ.ศ.2489) มีการสร้างถนนสุขุมวิท โดยมีการจ้างแรงงานชาวบ้านบริเวณที่ถนนตัดผ่านเป็นผู้ขุดดินข้างถนนเอาขึ้นมาถม โดยให้ค่าจ้างหลุมละ 1 บาท (1 หลุมกว้าง 4 ศอก ยาว 4 ศอก ลึก 1 ศอก) จ่ายเดือนละครั้ง อุปกรณ์ที่ใช้ขุดเป็นของชาวบ้านเอง    (จากคำบอกเล่าของนายสงวน       คำสุวรรณ : บ้านคานรูด)

คุณพ่ออันตน (Antoine) โตอัน ตาน โชติผล ล้มป่วยต้องไปพักรักษาตัวที่ วัดจันท์ และมรณภาพเมื่อวันที่ 2 มกราคม ค.ศ.1947 (พ.ศ.2490)
   ปี 1947 (พ.ศ.2490) คุณพ่อคาเบรียล โร ประดิษฐ์ศิลป์ เป็นเจ้าวัดองค์ต่อมา สมัยนั้นมี ร.ต.อ.สำเภา  พันธุ์สุวรรณ เป็นนายอำเภอขลุง (พ.ศ.2490-2496) และมี นายไสว  จิรวงศ์ เป็นนายกเทศมนตรี (29 พ.ย. 2491)
4 กันยายน ปี 1947 (พ.ศ.2490) คุณพ่อคาเบรียล โร  ประดิษฐ์ศิลป์ ได้ทำการสถาปนาโรงเรียน “ศรีหฤทัย” ขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยมีนายราช  พูลกิจ เป็นครูใหญ่ เนื่องจากความยากลำบากของบุตรหลานครอบครัวคาทอลิกและครอบครัวในชุมชน ที่ต้องเดินทางไปเรียนไกลๆ และเพื่อเป็นสถานอบรมพระธรรมคำสอนให้กับเด็กๆ ด้วย อาคารหลังแรกอาศัยบ้านพักซิสเตอร์ซึ่งเป็นอาคารไม้สองชั้น มีทั้งหมด 6 ห้องเรียน เปิดสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง 4 มีนักเรียนประมาณร้อยคนเศษ



          ปี 1948 (พ.ศ.2491) คุณพ่อได้บูรณะวัด โดยรื้อจั่วแหลมหน้าวัดออก เปลี่ยนหลังคา และ ปรับปรุงหอระฆังของวัด ซึ่งเคยตั้งอยู่เกือบตรงกลางวัด ได้รับการเปลี่ยนที่สร้างขึ้นใหม่ด้านหน้าวัด สิ้นค่าใช้จ่าย 1811.00 บาท

         จากคำบอกเล่าของผู้ที่เจริญชีวิตในสมัยนั้น เล่าว่า คุณพ่อเป็นผู้ที่เคร่งครัดทางด้านภาษาญวนมาก เวลานักเรียน เรียนคำสอน หรือแก้บาป จะต้องใช้ภาษาญวนทั้งสิ้น คุณพ่อเป็นผู้เคร่งครัดในระเบียบวินัยมาก กล่าวคือ หลังจาก 6 โมงเย็นแล้ว เด็กนักเรียนทุกคนจะต้องอยู่บ้าน ใครจะมายืนเล่นบนสะพานหลวง หรือนั่งตามร้านกาแฟไม่ได้ เพราะหลังจากคุณพ่อรับประทานอาหารเย็นแล้ว คุณพ่อจะถือไม้เรียวเดินตามถนนตรวจดูเด็กๆ (คุณพ่อจะสวมเสื้อหล่อสีดำ) พวกที่จับกลุ่มกัน เพียงแค่เห็นคุณพ่อเดินมาแต่ไกลก็จะแตกกลุ่มแยกย้ายกันไปในพริบตา




       ในวาระสุดท้ายของคุณพ่อ คุณพ่อเจ็บป่วยด้วยอาการปวดท้องอย่างรุนแรง จึงต้องเข้ารักษาตัว ที่กรุงเทพฯ และในที่สุดท่านก็กลับไปหาพระเป็นเจ้าเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ.1951 (พ.ศ.2494) ศพของคุณพ่อได้เชิญมาที่วัดขลุง และทำพิธีปลงศพ ณ สุสานวัดพระหฤทัยฯขลุง นับเป็นคุณพ่อองค์แรกที่ฝังไว้ ณ วัดขลุง


3 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

ลำดับความ ลำดับเนื้อเรื่องได้ยอดเยี่ยม เหมือนนักโบราณคดีเลย สมควรบันทึกไว้ก่อนที่ผู้เล่าเรื่องที่ยังมีชีวิตอยู่ล้มหายตายจากไป
น่าจะยังไม่จบนะ ยังไม่ถึงรุ่นคุณพ่อชิ้น ไชยเจริญเลย สนับสนุนให้ค้นคว้ามาเขียนต่อครับ

Unknown กล่าวว่า...

ครับขอบคุณที่ช่วยกันนำเสนอและสร้างสรรค์ให้วัดและชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์และเคารพในความรัก สมัครสมานสามัคคีของบรรพบุรุษชาวขลุงและพี่น้องคริสต์ชน

Unknown กล่าวว่า...

ครับขอบคุณที่ช่วยกันนำเสนอและสร้างสรรค์ให้วัดและชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์และเคารพในความรัก สมัครสมานสามัคคีของบรรพบุรุษชาวขลุงและพี่น้องคริสต์ชน